เมื่อก่อนบ้านเรา “เผาข้าวหลาม” กินเอง
เนื้อเยื่อไม้ไผ่สีขาวขุ่นบางๆ ห่อหุ้มข้าวเหนียวสุกหอมกรุ่น
บางคนบิออกมาพอคำส่งเข้าปากเลย หรือบางคนก็เอาไปจิ้มกับน้ำตาลทราย
บางทีก็มีกล้วยไข่หรือกล้วยหอมทองกินคู่กัน
ใครมีข้าวเหนียวก็นำข้าวเหนียวมา บ้านไหนปลูกไผ่ก็เอากระบอกไม้ไผ่มาแบ่งปันกัน บางบ้านมี ถั่วดำที่ปลูกไว้เมื่อหลายเดือนก่อนก็นำมาให้ ถามหากะทิล่ะ โอ๊ยไม่ต้องพูดถึง...หลังบ้านปลูกมะพร้าวกันไว้เกือบทุกบ้าน
บรรยากาศแบบนี้ไม่มีแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ชอบความยุ่งยาก อีกอย่างไม้ไผ่ก็หายาก อยากกินข้าวหลามก็หาซื้อเอาในตลาด หรือตามงานวัด
งานนบพระเล่นเพลง ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดกำแพงเพชร เพราะวัดพระบรมธาตุนั้นถือกันว่ามีของศักดิ์สิทธิ์ คือมีพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรจุอยู่ในเจดีย์ถึง 9 องค์ และในสมัยนั้น ไม่ค่อยมีอะไรให้ชาวบ้านได้ดูกันนอกจากงานประจำปีของวัดเท่านั้น ประชาชนจึงพากันมากราบไหว้บูชาพระธาตุกันทั่วสารทิศ การคมนาคมยังลำบาก ต้องมาทางเรือหรือล้อเกวียนเท่านั้น คนที่อยู่ไกลๆ เช่น โป่งน้ำร้อน คลองลาน ลานดอกไม้ ฯลฯ จะต้องเดินทางมาล่วงหน้าก่อนมีงานวัดเป็นสัปดาห์ ใครอยู่ริมแม่น้ำก็จะมาทางเรือ ซึ่งมีทั้งเรือถ่อและเรือพาย โดยนำเรือมาจอดที่ท่าน้ำหน้าวัดพระบรมธาตุ (ตรงต้นโพธิ์) บ้างก็ผูกเรือไว้ริมคลองสวนหมาก แล้วก็จะมีเพิงพักชั่วคราวที่ทางวัดปลูกไว้ให้ประชาชนมาพักในเวลาวัดมีงาน
ส่วนพวกที่อยู่ห่างไกลจากแม่น้ำปิง ก็จะมาทางล้อเกวียน เป็นพวกโป่งน้ำร้อน คลองน้ำไหล นาบ่อคำ พักอาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน เตรียมอุปกรณ์หุงต้ม เตรียมอาหารมารับประทานเองและถวายพระ นอกจากนี้ ก็เก็บหาของจำเป็นในการเผาข้าวหลามมาด้วย เพราะถือว่าเป็นประเพณีสำคัญ เพ็ญเดือนสามต้องเผาข้าวหลามถวายพระ
ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 เวลาประมาณ 15.00 น. ชาวนครชุมก็ชวนลูกหลานเผาข้าวหลาม ใครมาเมืองนครชุม ในตอนก่อนนั้นจะเห็นควันไฟเผาข้าวหลามคลุ้งไปหมดทั้งหมู่บ้าน เมื่อสุกแล้วก็จะนำไปถวายพระส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็จะจ่ายแจกแลกเปลี่ยนกันและเก็บไว้ต้อนรับญาติพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือน ส่วนบ้านเรือนก็ทำให้ว่างสำหรับผู้มาเยือนได้อาศัยพักแรมในช่วงที่มาไหว้พระธาตุกัน เป็นความผูกพันของคนต่างเผ่าพันธุ์ที่ผูกญาติกันในอดีต