นางสาวพันธ์นิภา เมฆสินธุ์
ปลัดเทศบาลตำบลนครชุม
โทร. 081-707-3427
แหล่งท่องเที่ยว
ข้าวต้มลูกโยน ส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ ห่อหุ้มด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน
11 กรกฎาคม 2563

รสชาติที่หวาน หอม ส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ ห่อหุ้มด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

ข้าวต้มลูกโยน

          เป็นขนมที่ทำกันมาแต่โบร่ำโบราณ ทำจากข้าวเหนียว น้ำตาลทราย เกลือ แล้วนำไปผัดกับกะทิและถั่วดำ เมื่อผัดเสร็จแล้วก็เอามาปั้นเป็นก้อนเท่าลูกมะปราง ข้างในมีไส้เป็นไส้กล้วย จากนั้นจะห่อหุ้มด้วยใบมะพร้าว โดยห่อพันไปมาจนหุ้มข้าวเหนียวได้หมด เหลือปลายของใบที่ใช้ห่อไว้ให้มีความยาวไม่เกินคืบ เพื่อความสวยงามอีกทั้งยังสะดวกในการหยิบจับด้วย จากนั้นใช้ “ตอก” ที่จักจากไม้ไผ่มารัดรอยก้อนข้าวเหนียวที่ห่อแล้วให้แน่นอีกครั้ง จึงค่อยนำไปนึ่งจนสุก เท่านี้ก็ได้ข้าวต้มลูกโยนที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรสชาติหวาน มัน หอมอร่อย

            ยังจำได้ว่า...เมื่อถึงวันออกพรรษา ประเพณีที่เกี่ยวข้องปฏิบัติสืบสานต่อเนื่องกันมาคือ การตักบาตรเทโว ซึ่งจะตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ประเพณีการตักบาตรเทโวในสมัย พุทธกาลตามที่มีกล่าวขานถึงนั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่  ณ  สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา1พรรษาและเมื่อออกพรรษาพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสนคร และการที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า "เทโวโรหนะ"

            ข้าวต้มลูกโยน ลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งในรูปแบบการห่อมีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยจะไว้หางยาวเพื่อความสะดวกในการใส่บาตร นางซ้วน จรรยาวัฒน์ ผู้เฒ่าชาวคลองสวนหมาก ได้ถ่ายทอดและเล่าให้ฟังถึงการทำข้าวต้มลูกโยนว่า ข้าวต้มลูกโยน ทำมาจากข้าวเหนียวซึ่งจะนำมาผัดกับกะทิคล้ายกับการทำข้าวต้มมัดแต่จะมีขนาดเล็กกว่า ข้าวต้มลูกโยน บางแห่งจะใส่กล้วย หรือถั่วดำ แล้วนำมาห่อ ซึ่งรูปแบบการห่อจะนำใบเตย หรือใช้ใบมะพร้าว ทำเป็นกรวยม้วนพันไปจนหุ้มข้าวเหนียว โดยทิ้งชายไว้  จากนั้นจะมัดด้วยตอกก่อนนำไปนึ่งให้สุกอีกครั้ง การทำข้าวต้มลูกโยน นิยมทำขึ้นในวันออกพรรษา ประเพณีนี้ชาวนครชุมได้ปฏิบัติสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง 

         วันสารทไทย ในวันนี้จะมีการทำบุญด้วยกระยาสารท ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทกันใน วันแรม 14 ค่ำ เพื่อนำไปทำบุญในวันสารทไทย เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวนครชุม ทางวัดสว่างอารมณ์ จะมีการทำบุญตักบาตรและถวายกระยาสารทโดยจัดห่อเป็นกระจาดเช้าอย่างสวยงาม   แต่ทางวัดพระบรมธาตุนั้น จะแตกต่างกับวัดสว่างอารมณ์ ตรงที่วัดพระบรมธาตุนี้ นอกจากจะมีการถวายกระยาสารทแล้ว ก็จะมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งควบคู่กันไปด้วย เรียกวันนี้ว่า บาตรข้าวต้ม คือจะมีเทศน์มหาชาติในวันสารทไทย       ในงานเทศน์มหาชาติ สมัยโบราณ แต่ละบ้านต่างก็ทำข้าวต้มมัดบ้าง ข้าวต้มลูกโยนบ้าง เพื่อนำไปตกแต่งและแขวนไว้บนศาลา ตามความเชื่อว่าเป็นป่าหิมพานต์    ปัจจุบันได้เปลี่ยนการทำข้าวต้มลูกโยนตามบ้านเป็นมาทำร่วมกันทำที่วัด  โดยจะทำก่อนหนึ่งวัน คือทำในวันเทศน์คาถาพัน และนำออกจำหน่ายให้กับชาวบ้าน น่าเสียดายที่ประเพณีการตักบาตรเทโวข้าวต้มลูกโยนนี้ เริ่มห่างหายไม่ค่อยมีใครสืบทอดปฏิบัติเหมือนเช่นอดีตหรือแม้แต่ตัวขนมข้าวต้มลูกโยนเอง ยุคนี้ก็แทบจะไม่มีให้ลองลิ้มชิมรสแล้ว ก็คงจะเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะช่วยกันฟื้นฟูและส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามนี้ให้คงอยู่ต่อไป