แกงขี้เหล็ก
แกงขี้เหล็ก เป็นอาหารโบราณ ที่ชาวนครชุมทำกินมาแต่ดั้งเดิม เนื่องจากใบขี้เหล็กเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง คนโบราณเอาใบอ่อนและดอกมาปรุงเป็นของกิน
โดยเฉพาะในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวนครชุมจะทำแกงขี้เหล็กกันทุกครัวเรือน เนื่องจากเป็นความเชื่อของชาวนครชุม ซึ่งมีมาแต่โบราณเชื่อว่าตัวยาที่รักษาสารพัดโรคจะไปรวมตัวกันอยู่ที่ยอดขี้เหล็ก ชาวบ้านจึงมีความเชื่อสืบต่อกันมา แต่ต้องเก็บตอนเช้ามืดและแกงให้เสร็จภายในวันนั้น จะเก็บล่วงหน้าไม่ได้ มิฉะนั้นสรรพคุณจะไม่ขลัง
ปัจจุบัน การแกงขี้เหล็กที่แกงกินกันในวันเพ็ญเดือน 12 จะมีเฉพาะบ้านผู้รู้ความเกี่ยวกับความเชื้อนี้ ในตำราแพทย์แผนไทยแจ้งสรรพคุณว่าขี้เหล็กมีประโยชน์แก้ท้องผูก นอนไม่หลับ บำรุงน้ำดี บำรุงโลหิตและทำให้เจริญอาหาร
เครื่องปรุง
ขี้เหล็กทั้งใบอ่อน และดอก กะทิ น้ำพริกแกง กุ้งแห้ง ปลาย่าง น้ำปลาร้า เนื้อหมูย่าง
น้ำพริกแกงมีส่วนผสมของพริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย เกลือ กะปิ
ปลาย่างแกะเอาก้างออก หรือกุ้งแห้งโขลกให้เข้ากัน ถ้าเป็นแม่ครัวหัวป่าก์จากเวียงจันทน์ จะเพิ่มรสของปลาร้าก็จะรอให้น้ำแกงเดือดพล่านทั่วกันเสียก่อน จึงค่อยเหยาะน้ำปลาร้า
วิธีทำ
1. ต้มขี้เหล็กให้หายขม 1 ครั้งหรือ 2 ครั้งแล้วแต่ชนิดของขี้เหล็ก ถ้ายอดขาวจะขมน้อยกว่ายอดแดง บีบน้ำให้แห้งพักไว้
2. ผัดน้ำพริกแกงกับหัวกะทิจนหอม เติมกะทิทีละน้อยไม่ให้แตกมันมากนัก ใส่หมูย่างหรือปลาย่างลงเคล้าให้เข้ากัน เติมเกลือ เติมหางกะทิลงไปพอเดือดใส่ขี้เหล็กเดือดดีแล้วเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ชิมรสตามชอบ แกงขี้เหล็กต้องกะทิข้นหน่อย เค็มนำ เผ็ดน้อยจึงจะอร่อย