บ้านพะโป้ (บ้านโบราณสมัยรัชกาลที่ 5)
บ้านที่สวยที่สุดในอดีตของคลองสวนหมาก เห็นจะได้แก่บ้านพะโป้ หรือที่ชาวกำแพงเพชรเรียกกันติดปากในปัจจุบันนี้ว่า “บ้านห้าง ร.5” ตั้งอยู่ริมคลองสวนหมาก คลองเล็กๆ ที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง บริเวณวัดพระบรมธาตุ
พะโป้ เป็นพ่อค้าไม้และเป็นคหบดีใหญ่ชาวกระเหรี่ยง ผู้ปฏิสังขรณ์เจดีย์โบราณพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม ต่อจากแซงพอ หรือพญาตะก่า ผู้เป็นพี่ชาย ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสต้นวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ดังมีชื่อในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ และมีภาพตัวบ้านในอัลบั้มภาพทรงถ่าย เคยมีชื่ออยู่ในนิยายอิงบรรยากาศจริงเรื่อง “ทุ่งมหาราช” ของ “เรียมเอง” หรือมาลัย ชูพินิจ นักเขียน ผู้ถือกำเนิดจากชุมชนปากคลองสวนหมากโดยตรง
จากถนนพหลโยธินเลี้ยวเข้าตลาดนครชุม ขับรถผ่านบ้านเรือนและตลาดเล็กๆ ที่น่ารักไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงวัดสว่างอารมณ์ นั่งดื่มโอเลี้ยงอร่อยๆ ได้ต้นไม้อันร่มรื่นบริเวณหน้าวัด แล้วเดินเลียบคลองสวนหมากต่อไปเพียงเล็กน้อยก็ถึงบ้านพะโป้ ทันทีที่เห็นบ้านสองชั้นสูงตระหง่านตรงหน้า เราจะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของบ้านหลังนี้ได้โดยไม่มีใครต้องบอกเลย มันสูงใหญ่มาก สูงกว่าบ้านสองชั้นปกติทั่วไป มันตั้งอยู่บนเสาสูงเหนือพื้นและมีความกว้างถึง ๗ คูหา ข้างบนมีระเบียงไม้เป็นแนวยาว ทั้งเสาหลักและ ตัวราวกันตกกลึงเกลาอย่างบ้านฝรั่ง บนเชิงชายประดับด้วยลายลูกไม้ตามธรรมเนียมนิยม ในยามน้ำลดหน้าแล้ง หากเดินออกไปยืนดูวิวจากระเบียง จะมองเห็นลำคลองและหาดทรายแสนสวยคั่นระหว่างบ้านและตัวตลาด เป็นภาพที่งดงามยากยิ่งที่จะลืมเลือน
รูปทรงกลิ่นยุโรปของชาวบ้านให้นึกถึงคฤหาสน์แสนสวยที่เคยมีผู้คนพลุกพล่านอยู่ข้างใน มีนาย มีบ่าว มีเครื่องใช้ราคาแพง สมฐานะพ่อค้าไม่ผู้ร่ำรวย ยิ่งผู้ใดได้อ่านหนังสือทุ่งมหาราชอันหมายถึงท้องถิ่นแถบคลองสวนหมาก ที่พระปิยะมหาราช (รัชกลาที่ ๕) เคยสะเด็จประพาสต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ก็จะยิ่งจินตนาการเห็นภาพลึกเข้าไปราวเดินอยู่ในบรรยากาศเมื่อครั้งกระโน้นอย่างสดใสเกินบรรยาย
มาลัย หรือครูมาลัย เขียนเรื่องทุ่งมหาราชเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ขณะอายุ ๕๐ ปี ของปู่มาลัยเป็นข้าราชการ ส่วนพ่อของมาลัยเป็นพ่อค้า ประกอบอาชีพค้าไม้สักและไม้กระยาเลยเป็นอันทรัพยากรสำคัญของกำแพงเพชร ภายหลังพ่อของมาลัยได้เป็นกำนันตำบลคลองสวนหมาก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นตำบลนครชุม
รายละเอียดของมาลัย และรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านพะโป้ คลองสวนหมากตลอดจนภูมิประเทศประวัติศาสตร์แถบกำแพงเพชร มีอยู่ในหนังสือสามเล่มที่ผมขอแนะนำให้ผู้สนใจไปหาอ่านต่อ
เล่มแรก คือ วารสารเมืองโบราณ ฉบับเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๖ ปกพะโป้กับภรรยา ข้างในมีข้อเขียนของฆรณี แสงรุจิ และศรัณย์ ทองปาน ให้ภาพบ้านพะโป้และประวัติพะโป้ค่อนข้างดี รูปประกอบก็สวยงามชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปถ่ายพะโป้ที่กองบรรณาธิการสามารถขอก๊อปปี้จากทายาทโดยตรง จะเรียกว่าเป็นการเผยแพร่ภาพพะโป้สู่สาธารณชนครั้งแรกก็ว่าได้
เล่มที่สอง คือ หนังสือชื่อ “ทุ่งมหาราชกับประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร” งานวิจัยวรรณกรรมเรื่องทุ่งมหาราช โดยศูนย์พัฒนาการเรียนกราฟสอนวิชาภาษาไทยจังหวัดกำแพงเพชร โรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม และสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดกำแพงเพชร เล่มหลังนี้ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ ข้างในมีประวัติครูมาลัย มีเรื่องบ้านคลองสวนหมาก และเรื่องพะโป้จากการสัมภาษณ์ลูกหลาน ผมไปเห็นจากบ้าน อ.ภูธรภูมะธน จึงหยิบยืมมาใช้อ้างอิง
เล่มที่สาม หนังสือชื่อ “เสด็จประพาสต้น ร.ศ.๑๒๕” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพนายภาวาส บุนนาค วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ข้างในมีภาพถ่ายคราวเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ อันเป็นคราวที่ ร.๕ เสด็จแวะบ้านพะโป้ มีภาพถ่าย (ฝีพระหัตถ์)อันล้ำค่าพิมพ์คมชัดงดงามมาก
พระราชนิพนธ์กล่าวตอนหนึ่งว่าวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ เสด็จประพาสคลองสวนหมาก น้ำในคลองไหลเชี่ยวแต่ใสเพราะมาจากลำห้วย ถ้าไปตามลำคลองใช้เวลา ๓ วันจึงถึงป่าไม้ ซึ่ง “พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ เมียเป็นคนไทยชื่ออำแดงทองย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวัน และอำแดงไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันในที่นั้น ไปขึ้นถ่ายรูปที่หน้าบ้าน ๒ บ้านนี้แล้วจึงกลับมาจอดกินกลางวันที่หาดกลางน้ำ.......”
พระราชนิพนธ์กล่าวต่อไปว่า คลองสวนหมากเป็นที่มีไข้ชุม แต่เมื่อแซงพอพี่ชายของพะโป้มาตั้งการทำป่าไม้ ความเกรงกลัวไข้ก็เสื่อมไป มีคนมาตั้งบ้านเรือนมากขึ้นภายหลังแซงพอได้ปฏิสังขรณ์เจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม แต่ทำยังไม่ทันสำเร็จก็ตายเสียก่อน พะโป้น้องชายจึงทำต่อ ขณะนั้นเพิ่งยกฉัตรซึ่งทำการจากเมืองมรแหม่งขึ้นบนยอดไม่นาน
ในส่วนวารสารเมืองโบราณ ให้ความรู้ที่น่าสนใจว่า บ้านพะโป้หลังเดิมเป็นเรือนปั้นหยาหลังเล็ก ส่วน “บ้านห้าง” ที่เป็นบ้านกว้างใหญ่บนเสาสูงนั้น ปลูกภายหลังเล่ากันว่าซื้อมาจากพระยาราม บริเวณบ้านห้างสมัยพะโป้ยังอยู่ มีโรงช้างและผู้คนบ่าวไพร่มากมาย
พะโป้ถึงแก่กรรมราว พ.ศ.๒๔๖๐ หลังจากนั้นกิจการทำไม้ของพะโป้ก็ตกเป็นของบริษัททำไม้แห่งหนึ่ง (ไม่ระบุชื่อ) จนเมื่อไม้มีไม่พอทำแล้ว บริษัทก็ปิดที่ทำการนี้ลงและบ้านห้างก็ถูกทิ้งนับตั้งแต่นั้น....
พะโป้ มีบุตรหลานหลายคน เช่น นางแกล นางทับทิม และนายทองทรัพย์ รัตนบรรพต นายทองทรัพย์ คนหลังเป็นพ่อของอาจารย์กัลยา รัตนบรรพต ที่คณะวารสารเมืองโบราณและคณะอาจารย์ชาวกำแพงเพชรเคยสัมภาษณ์
แม้บ้านพะโป้ในโลกปัจจุบันจะทรุดโทรมและเรือนบริวารก็ไม่มีให้เห็นเหมือนเมื่อครั้งเก่าก่อน แต่ก็คงประทับใจบ้านหลังนี้มาก เกิดความซาบซึ้งและอยากหวนกลับไปอีก