สถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทย มีการเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากสื่อสารมวลชน นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การแผ่แนวความคิดเรื่องการดำรงชีวิตจากทางสื่อสารมวลชนตะวันตก รวมทั้งการถูก บีบรัดทางสังคมในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดผลกระทบต่อแม่บ้าน สตรี และผู้สูงอายุ เนื่องจากแม่บ้าน สตรี และผู้สูงอายุยังขาดประสบการณ์ในการดำรงชีวิต ที่จะรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม วัตถุ วัฒนธรรม และค่านิยมต่างๆ ซึ่งอาจจะแสดงออกมาทางด้านพฤติกรรมการเลียนแบบ การแสดงออกที่ไม่เหมาะสมต่อสังคมส่วนรวม ดังนั้น เพื่อที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น แม่บ้าน สตรี และผู้สูงอายุ จึงควรที่จะได้รับการพัฒนาศักยภาพในเชิงบวก เพื่อที่จะช่วยในการสนับสนุนการสร้างโอกาสและสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤต เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของการพัฒนา ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลางและการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ ทุกด้าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลปัจจุบัน ได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นนโยบายและพัฒนาให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ เน้น “คน” เป็นศูนย์กลางการพัฒนา อีกทั้งการพัฒนานั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่ คนที่อยู่ในระดับครัวเรือน ระดับท้องถิ่น จึงจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนให้ อปท.นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการ ปี พ.ศ.2558 ตัวชี้วัดที่ 14 “ร้อยละขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาท้องถิ่นได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด”ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0891.4/ว792 ลงวันที่ 20 เมษายน 2558
วัตถุประสงค์
1.เพื่อส่งเสริมความรู้ ด้านอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลนครชุม โดยการส่งเสริม สนับสนุนด้านการสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้าน สานต่องานของครูภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการสานของเล่นด้วยวัสดุธรรมชาติจากใบพืช เช่น ใบตาล ใบมะพร้าว ใบลานและการทำดอกไม้จันทน์ เป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน
2.เพื่อเสริมสร้าง สนับสนุนความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว สังคม ชุมชน ด้วยการเรียนรู้วัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่ประดิษฐ์ของเล่นให้กับบุตร-หลานในบ้าน จากวัสดุที่หาได้ในบ้านและถ่ายทอดความรู้ให้บุตร-หลาน สามารถประดิษฐ์ของเล่นได้เอง ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์
3.เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความสุขในขณะที่ปฏิบัติงาน ผ่อนคลายความตรึงเครียด
4.เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนพึ่งตนเอง ตลอดจนมีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง