นางสาวพันธ์นิภา เมฆสินธุ์
ปลัดเทศบาลตำบลนครชุม
โทร. 081-707-3427
แหล่งท่องเที่ยว
เที่ยวชุมชนนครชุม ตามคำขวัญของเทศบาลตำบลนครชุม
25 กุมภาพันธ์ 2558

เมืองนครชุม

            เมืองที่เจริญสูงสุดในลุ่มน้ำปิง นอกจาก เมืองเชียงทอง เมืองคลองเมือง เมืองแปบ เมืองคณฑี เมืองเทพนคร และเมืองไตรตรึงษ์แล้ว เมืองนครชุม เป็นเมืองสำคัญที่สุด แห่งหนึ่ง ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่กว่าสองร้อยปี ตั้งแต่ปี พุทธศักราช 1800  ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปกำแพงเมือง สร้างคดเคี้ยวตามลำน้ำปิง กว้างประมาณ 400 เมตร ยาวประมาณ 2,900 เมตร มีคูเมือง 2 ชั้น กำแพงเมืองเป็นคันดิน 3 ชั้น ที่เรียกกันว่า ตรีบูร กำแพงเมืองทางทิศตะวันออก ปากคลองสวนหมาก ผ่านไปทางทิศใต้ของสะพานกำแพงเพชรไปสิ้นสุดที่บ้านหัวยาง กำแพงเมืองทางด้านลำน้ำปิงถูกน้ำกัดเซาะ พังทลายไปสิ้น

           แนวกำแพงเมือง บริเวณสถานีขนส่ง หรือบริเวณ หน้าโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม ยังมีแนวให้เห็นค่อนข้างชัด แต่กำลังถูกทำลายเกือบหมดสิ้น คูเมือง ถูกประชาชนบุกรุกปลูกที่อยู่อาศัย รุกล้ำโบราณสถาน อย่างไม่รู้ค่า เทศบาลตำบลนครชุม กำลังทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ คงจะไม่สายเกินไป ถ้าประชาชนช่วยกันอย่างจริงจัง เมืองนครชุมจะไม่เป็นแค่ตำนาน ที่ปรากฏหลักฐานในจารึกนครชุมเท่านั้น ถ้าภาครัฐ ภาคเอกชน ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

           เมืองนครชุม เจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท โดยพระองค์เสด็จไปสถาปนาพระบรมธาตุและทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองนครชุม ที่เป็นตำนานแห่งประเพณีนบพระเล่นเพลง สืบต่อมาจนปัจจุบัน

            โบราณสถานและโบราณวัตถุในเมืองนครชุม มีทั้งในเมืองนครชุมและเขตอรัญญิก ในตัวเมือง มี วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดประจำเมืองนครชุม ซึ่งน่าจะเป็นเมืองลูกหลวงในสมัยสุโขทัย ในบริเวณโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม สันนิษฐานว่า เป็นเขตพระราชฐาน ของเมืองนครชุม โบราณสถานอื่นๆ ไม่มีเหลือให้เห็น เพราะเมืองนครชุมใหม่สร้างซ้อนเมืองนครชุมเก่า ทำให้เมืองนครชุม ไม่มีหลักฐานใดๆให้เห็นนอกจากบ้านเรือนที่สร้างซ้อนทับบน เจดีย์ และโบสถ์ วิหารน่าเสียดายยิ่ง

           บริเวณอรัญญิก อยู่ห่างจากแนวกำแพงเมืองไปประมาณ 500 เมตร มีวัดสำคัญ หลายวัด อาทิ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และอีกหลายสิบวัดที่ถูกทำลาย ไปหมดสิ้น ในยุด 30 -40 ปีที่ผ่านมานี้เอง

           ป้อมทุ่งเศรษฐี เป็นป้อมที่งดงาม สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหมด เป็นลักษณะป้อมจากยุโรป อยู่ในสภาพที่บูรณะปฎิสังขรณ์ เรียบร้อยแล้ว อยู่ทางเข้าเมืองกำแพงเพชร น่าแวะชมอย่างที่สุด

           เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2449 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสนครชุม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนครชุมให้หายหวาดกลัวไข้ป่าและโรคระบาด โดยเสด็จขึ้นที่บ้านพะโป้ และวัดพระบรมธาตุ ขึ้นเสวยพระกระยาหาร ภาพถ่ายทางอากาศเมืองกำแพงเพชรหาดทรายหน้าเมือง ล้วนเป็นรอยจารึกแห่งประวัติศาสตร์ ของชาวนครชุมทั้งสิ้น

           เมืองนครชุม อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองสูงสุด ในอดีตเคยเป็นเมืองลูกหลวงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 200 ปี กลายเป็นเมืองร้างถูกลดชั้นเป็นตำบลเล็กๆตำบลหนึ่งในเมืองกำแพงเพชร แต่ทว่าภาพในอดีตแห่งเมืองนครชุม ยังเปล่งประกายเจิดจ้า ท้าทายนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาเยี่ยมชมอย่างมิรู้ลืม……

 

คำขวัญเมืองนครชุม

พระบรมธาตุคู่บ้าน            พระยาวชิรปราการคุ้มเมือง

ป้อมทุ่งเศรษฐีลื่อเลื่อง             กำแพงเพชรเมือง700ปี

คลองสวนหมากเสด็จประพาส    ทุ่งมหาราชบทประพันธ์ดี

หลวงพ่ออุโมงค์เป็นศักดิ์ศรี       คนดีศรีเมืองนครพระชุม

 

ความหมายของคำขวัญ เทศบาลตำบลนครชุม

พระบรมธาตุคู่บ้าน

            พระบรมธาตุนครชุมมหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์ เสมือนดั่งเจดีย์ ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์ เมื่อได้เข้าไปนมัสการและบูชาแล้ว ดังได้พบกับพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมกินเวลายาวนานมากกว่า 600 ปี และยังคงยั่งยืนสืบต่อกันมาเป็นองค์มหาเจดีย์แห่งศรัทธา จวบจนปัจจุบัน

            ความในจารึกนครชุม กล่าวถึงการประดิษฐานพระบรมธาตุสรุปความว่า พระยาลือไทยโอรสพระยาเลอไทย พระนัดดาพระยารามราช เสวยราชที่เมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.1890 เมื่อเสวยราชย์แล้ว ท้าวพระยาทั้งหลายแต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษก เป็นท้าวเป็นพระญา ชื่อ ศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช ทรงได้พระบรมสารีริกธาตุพร้อมกิ่งพระศรีมหาโพธิ จากลังกาทวีปใน ปี พ.ศ.1900 จึงทรงนำไปประดิษฐานในเมืองนครชุม และทรงจารึกไว้ว่า "...ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธินี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล..."

พระยาวชิรปราการคุ้มเมือง

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตำแหน่งพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้นได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2310 แต่ประชาชนทั่วไปยังนิยมเรียกพระองค์ว่า "พระเจ้าตากสิน" อันเป็นตำแหน่งเดิมคือ เจ้าเมืองตาก ก่อนที่พระองค์จะได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการ

          ดังความว่า ได้บำเหน็จความดีความชอบในสงครามจึงโปรดให้เลื่อนเป็น พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรแต่ยังไม่ทันได้ปกครองเมืองกำแพงเพชร ก็เกิดศึกกับพม่าครั้งสำคัญขึ้นจึงถูกเรียกตัวให้เข้ารับราชการในกรุง เพื่อป้องกันพระนครจนถึงปี พ.ศ. 2309

ป้อมทุ่งเศรษฐีลื่อเลื่อง

            ป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร เป็นป้อมนอกเมืองกำแพงเพชร คนละฝั่งแม่น้ำปิง กับตัวเมืองก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรป คาดว่า เป็นชาติปอร์ตุเกศ มาสร้างให้ โดยขน ศิลาแลง มาจากฝั่งกำแพงเพชร มาทำป้อมปราการที่ทันสมัยและแข็งแกร่งที่สุดในสมัยนั้น

            จากการขุดแต่งป้อมทุ่งเศรษฐี ไม่ปรากฏว่า มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ภายในป้อม เหมือนตำนาน นางพิกุล ที่เล่ากันว่า นางพิกุล เป็นธิดา ของเศรษฐี ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณป้อมแห่งนี้ และเป็นผู้สร้างวัดหนองพิกุล

            ป้อมทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อย อยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่จะเห็นกำแพงศิลาแลงเป็นป้อม มีใบเสมาเหลืออยู่ ป้อมก่อด้วยศิลาแลงกว้าง ๘๓.๕ เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ ๖ เมตร ตรงกลางแต่ละด้านมีช่องประตูเข้า – ออกบริเวณกึ่งกลางป้อมทั้ง ๔ ด้าน ทางด้านในก่อเป็นเชิงเทินพอเดินหลีกกันได้ ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินต่อต่อกันได้ มีช่องมองอยู่ติดกับพื้น ก่อด้วยศิลาแลง กำแพงด้านนอกก่อเป็นผนังสูง ตอนบนสุดของกำแพงก่อเป็นรูปใบเสมา ใต้ใบเสมาทุกใบมีช่องซึ่งอาจจะใช้เป็นช่องปืน ส่วนตรงมุมกำแพงทั้ง ๔ มุม ทำเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมยื่นออกมา ตอนล่างของแนวกำแพงมีช่องกุดทำเป็นวงโค้งยอดแหลม ป้อมทุ่งเศรษฐี การก่อสร้างป้อมนี้มีความมั่นคงมาก แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกเสียด้านหนึ่ง จึงเหลือเพียง ๓ ด้าน บริเวณนี้มีวัดเก่าแก่หลายวัด เช่น วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหนองลังกา เป็นต้น ที่สำคัญ ต่อนักเลงพระก็คือ เป็นบริเวณที่พบพระเครื่องลือชื่อของเมืองกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอ ลีลาเม็ดขนุน ทุ่งเศรษฐี หรือกำแพงเขย่ง ปัจจุบันกำแพงเหลืออยู่เพียงบางส่วน โดยบางส่วนนั้นได้ถูกรื้อออกเพื่อนำไปถมตลิ่งหน้าวัดพระบรมธาตุเจดียาราม เมื่อครั้งบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ป้อมทุ่งเศรษฐีนี้ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการค้นพบพระเครื่องที่มีชื่อเสียงป้อมทุ่งเศรษฐี รอดจากการรื้อ เพราะมีการก่อสร้างถนน ผ่านป้อมอย่างหวุดหวิด เพราะทุกคนเห็นความสำคัญของป้อมทุ่งเศรษฐีแห่งนี้ ถ้าผ่านมาลองเข้าไปชมความยิ่งใหญ่ และแข็งแกร่งของป้อมนี้ ท่านจะมีความภูมิใจเป็นที่สุด

  กำแพงเพชรเมือง 700 ปี

            ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปกำแพงเมือง สร้างคดเคี้ยวตามลำน้ำปิง ซึ่งกว้างประมาณ 400 เมตร ยาวประมาณ 2,900 เมตร มีคูเมือง 2 ชั้น กำแพงเมืองเป็นคันดิน 3 ชั้น ที่เรียกกันว่า ตรีบูร กำแพงเมืองทางทิศตะวันออกติดปากคลองสวนหมาก ผ่านไปทางทิศใต้ของสะพานกำแพงเพชรไปสิ้นสุดที่บ้านหัวยาง กำแพงเมืองทางด้านลำน้ำปิงถูกน้ำกัดเซาะพังทลายไปสิ้น

คลองสวนหมากเสด็จประพาส

            คลองสวนหมาก สายโลหิตของชาวบ้านปากคลองใต้ ได้หล่อเลี้ยงชีวิตของคนปากคลองมาหลายร้อยปี ทั้งปากคลองเหนือ ปากคลองกลาง และปากคลองใต้คลองสวนหมากเป็นสายน้ำที่มาจากเทือกเขาโมโกจู ไหลเป็นเส้นทางลำเลียงไม้มาจากป่า สายน้ำเย็นมาก ไข้ป้าชุมที่สุด มีคำกล่าวว่า ถ้าเดินทางมาในลำน้ำปิง ทั้งขึ้นและล่อง ต้องหันหน้าไปทาง กำแพงเพชร ถ้าหันหน้ามาทางปากคลอง จะเป็นไข้ป่าตาย

            ดังพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุ ประพาสต้นกำแพงเพชรความว่า

            25 สิงหาคม วันนี้ตื่นสายเพราะวานนี้อยู่ข้างจะฟกซ้ำ 4 โมงจึงได้ลงเรือเหลืองข้ามฟาก ไปฝั่งตะวันตก    ยังไม่ขึ้นถึงวัดพระธาตุ เลยไปคลองสวนหมาก ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยวแต่น้ำใส เพราะเป็นลำห้วย มีคลองแยกข้างขวามือ ต้นทางที่จะเข้าไปเรียกว่าแม่พล้อ ถ้าไปตามลำคลอง 3 วันจนถึงป่าไม้ แต่มีหลักตอมาก เขาขึ้นเดินไปทางวันเดียวถึงป่าไม้นี้พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ เมียเป็นคนไทยชื่ออำแดงทองย้อยเป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวัน และอำแดงไทตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกัน ไปขึ้นถ่ายรูปที่หน้าบ้าน 2 บ้านนี้ แล้วจึงกลับออกมาจอดกินกลางวันที่หาดกลางน้ำ คลองสวนหมากนี้ตามลัทธิเก่าถือว่าเป็นที่ร้ายนัก จะขึ้นล่องต้องเมินหน้าไปทางทิศตะวันออก เพียงแต่แลดูก็จับไข้ ความจริงนั้นเป็นที่มีไข้ชุมจริง เพราะเป็นน้ำลงมาแต่ห้วยในป่าไม้ แต่เงินไม่เป็นเครื่องห้ามกันให้ผู้ใดกลัวความตาย แซงพอกะเหรี่ยงซึ่งเรียกว่าพญาตะก่า พี่พะโป้มาทำป่าไม้ราษฎรอยู่ฟากตะวันออกก็พลอยข้ามไปหากินมีบ้านเรือนคนมาก ความกลัวเกรงก็เสื่อมไป

ทุ่งมหาราชบทประพันธ์ดี

            หมายถึง ทุ่งมหาราช คือนวนิยาย ของนายมาลัย ชูพินิจ เป็นนวนิยายที่ฉายภาพของเมืองนครชุมอย่างชัดเจน (เรียมเอง เป็นนามปากกาของ ครูมาลัย ชูพินิจ ยอดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของไทย) ครูมาลัย เขียนเรื่องนี้จากความทรงจำรำลึกความสำนึกในบุญคุณ และความรักในมาตุภูมิดังที่กล่าวไว้ในคำนำหนังสือว่าเรื่องทุ่งมหาราชเป็น “เสมือนบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุคประจำสมัยซึ่งผ่านมาในชีวิตของข้าพเจ้าและก่อนหน้าข้าพเจ้าขึ้นไป.

            “ทุ่งมหาราช”   เป็นนวนิยายที่บรรยายให้เห็นสภาพชีวิต เหตุการณ์ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ในสมัยนั้นของบ้านเมือง มีจุดเน้นอยู่ที่ชุมชนบ้านคลองสวนหมากริมฝั่งแม่น้ำปิง ตลอดสายที่ผ่านกำแพงเพชร จนถึงปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และกรุงเทพมหานครตามลำดับ

            บ้านคลองสวนหมากชุมชนน้อย ๆ แห่งหนึ่งในชนบท ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคลองสวนหมากและแม่น้ำปิงซึ่งเป็นจุดที่คลองสวนหมากไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรนานาชนิดเหมาะที่ผู้คนจะตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน

            ...ชุมชนชนบทแห่งนี้ บ้านคลองสวนหมาก เมืองนครชุม หรือ นครพระชุมโบราณ ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในสมัยโบราณสมัยสุโขทัย มีมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังภาคภูมิใจเป็นอันมากนับตั้งแต่กำแพงเมืองทุ่งเศรษฐี เจดีย์ วิหารโบราณสถานต่าง ๆ

หลวงพ่ออุโมงค์เป็นศักดิ์ศรี

            หลวงพ่ออุโมงค์เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน (ก่อนสุโขทัย) ขนาดหน้าตักกว้าง 2.87 เมตร สูงเกือบ 3 เมตร มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่งเป็นหลักฐานสำคัญประกอบข้อเท็จจริงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกำแพงเพชรและหัวเมืองฝ่ายเหนือ หลวงพ่ออุโมงค์ พระพุทธรูป สมัยเชียงแสน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.กำแพงเพชร พุทธลักษณะงดงาม บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เมืองกําแพงเพชรและอาณาจักรล้านนาในอดีต โดยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร   จากคำบอกเล่าได้กล่าวว่า ได้พบหลวงพ่ออุโมงค์ ในบริเวณเนินดินลักษณะคล้ายจอมปลวก ซึ่งชาวบ้านได้ขุดและพบโดยบังเอิญ โดยปรากฏลักษณะเหมือนประดิษฐานอยู่ภายในอุโมงค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่ออุโมงค์

คนดีศรีเมืองนครพระชุม

            เมืองนครชุม เดิมเรียกขานกันว่าเมืองนครพระชุม ตามจารึกหลักที่ 8 อาจหมายถึง เมืองที่มีพระพุทธศาสนารุ่งเรืองและเมื่อจะสิ้นพระพุทธศาสนา บรรดาพระบรมธาตุที่ประดิษฐานตามที่ต่าง ๆ ก็จะมาชุมนุมที่เมืองนครชุม จึงเรียกขานกันว่า นครพระชุม ประชาชนที่ทำมาหากินในเมืองนครชุมรักชาติบ้านเมือง ทำให้เมืองนครชุมเจริญขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็สามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีไว้ได้อย่างน่ายกย่อง เมืองนครชุมจึงเป็นเมืองของคนดี ที่ใฝ่ในธรรมประพฤติในศีลเสมอ

แหล่งข้อมูล:การอบรมผู้นำทางการท่องเที่ยว โดยอาจารย์สันติ อภัยราช